รู้หรือไม่ อาหารที่เราถวายเพิ่มความเสี่ยงหลายโรคแก่พระสงฆ์!
“อายุ วัณโณ สุขัง พลัง…” หลังจากที่พระกล่าวให้พรแล้ว ผู้ทำบุญทุกคนย่อมรู้สึกอิ่มบุญไปตามกัน
แต่หารู้ไม่ว่าบางสิ่งที่เพิ่งถวายพระไปนั้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวมันไก่พิเศษ แกงกะทิเนื้อเยอะๆ หรือไก่ทอดเจ้าเด็ด ล้วนแต่เป็นโทษต่อสุขภาพของพระสงฆ์ โดยปัญหาสุขภาพหลักๆ ที่พระสงฆ์ไทยต้องเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตและไขมันสูง ซึ่งบางรูปถึงขั้นต้องผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ ด้วยเหตุผลเพียงแค่ไม่อยากขัดศรัทธาญาติโยมที่ถวายอาหารมา
เมนูอาหารใส่บาตร-ถวายเพลยอดฮิต
“ตักบาตรอย่าถามพระ” เป็นสุภาษิตไทยที่มีความหมายว่า หากจะให้สิ่งใดที่ผู้รับเต็มใจรับอยู่แล้ว ก็ไม่ควรจะถาม เฉกเช่นเดียวกันกับการตักบาตรให้พระสงฆ์ ก็ไม่ควรถามว่าท่านจะรับหรือไม่ เพราะตามหลักพระธรรมวินัยแล้ว พระสงฆ์ไม่สามารถเลือกรับอาหารจากญาติโยมได้ และถึงหากทำได้ ก็จะทำให้ญาติโยมเสียศรัทธา และพาลไม่เคารพพระสงฆ์องค์นั้น
เมื่อพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกรับอาหารได้ ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการอาพาธได้เช่นกัน เพราะอาหารส่วนมากที่โยมใส่บาตร หรือนำไปถวายเพลที่วัด มักจะเป็นอาหารสำเร็จรูป เช่น แกงกะทิ ผัดผัก ของทอดต่างๆ ไปจนถึงอาหารจานเดียว เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวเหนียวหมูปิ้ง เป็นต้น
ทีมงานได้สำรวจเมนูอาหารที่พนักงานบริษัทหลายแห่งนิยมนำไปทำบุญถวายพระ พบว่าอาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ ข้าวมันไก่ พะแนงหมู ผักผัก ปลาทอด ซึ่งเป็นอาหารที่หาซื้อได้ง่ายและราคาไม่แพง ส่วนเครื่องดื่มที่นิยมถวายพระ ได้แก่ กาแฟ ชาเขียว น้ำผลไม้ และนมกล่องรสต่างๆ
นับเป็นเรื่องดีที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยยังให้ความสำคัญกับการทำบุญแก่พระสงฆ์ แต่รู้หรือไม่ว่าอาหารที่นำมาใส่บาตร หรือนำมาถวายเพล เป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพพระสงฆ์มาก ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- ข้าวมันไก่ ให้พลังงานสูงถึง 600 แคลอรีต่อจาน หากใส่เครื่องในไก่ หรือเลือกเนื้อไก่ส่วนติกกระดูก จะทำให้พระสงค์ได้รับสารพิวรีน (Purine) สูง ซึ่งสารนี้จะเปลี่ยนเป็นกรดยูริก ทำให้เกิดผลเสียต่อกระดูกและข้อต่อ หากพระสงฆ์มีอาการของโรคเกาต์อยู่แล้ว จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ น้ำจิ้มข้าวมันไก่ยังมีโซเดียมสูงอีกด้วย
- แกงกะทิ กะทิให้ไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งไขมันชนิดนี้จะเปลี่ยนเป็นคอเลสเตอรอล หากร่างกายนำไขมันไปใช้ไม่หมด จะทำให้ไขมันไปสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- ของทอดทุกชนิด เป็นอาหารที่ให้แคลอรีสูงไม่แพ้อาหารชนิดอื่นๆ จากการดูดซับน้ำมันที่ใช้ทอด นอกจากนี้ยังทำให้พระสงฆ์เสี่ยงต่อการอาพาธด้วยโรคมะเร็งจากน้ำมันที่ได้รับความร้อนเป็นเวลานาน และเนื้อสัตว์ที่ทอดเกรียมจนเกิดสารไนโตรซามีน (Nitrosamines)
- น้ำผลไม้กล่อง มักไม่มีคุณค่าทางสารอาหาร และอุดมไปด้วยน้ำตาล หากพระสงฆ์ฉันบ่อยๆ เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน
อาหารต่างภาค อันตรายต่อสุขภาพต่างกัน จากสถิติของกรมอนามัยในปี พ.ศ. 2559 ที่ได้ตรวจคัดกรองสุขภาพของพระสงฆ์และสามเณรทั่วประเทศ และได้จำแนกการอาพาธของพระสงฆ์ออกตามภูมิภาค ดังนี้
- ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร พระสงฆ์มีภาวะไขมันสูง และเป็นโรคอ้วนมากที่สุด
- ภาคใต้ พระสงฆ์มีค่ากรดยูริกสูงและไตทำงานผิดปกติ
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระสงฆ์ภาวะโลหิตจาง และมีความเสี่ยงต่อไตทำงานผิดปกติมากถึง 8 เท่า
จากข้อมูลเหล่านี้จะเห็นว่า พระสงฆ์ในแต่ละภูมิภาคอาพาธด้วยโรคแตกต่างกันไป โดยสาเหตุหลักนั้นมาจากโภชนาการทั้งสิ้น เนื่องจากแต่ละภูมิภาคมีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่ต่างกัน อย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเน้นอาหารที่มีรสชาติ เผ็ด เปรี้ยวและเค็ม และมีผักหลายชนิดเป็นเครื่องเคียงในทุกมื้อ ซึ่งผักบางชนิด เช่น กระถิน และยอดผักต่างๆ มีสารไฟเตต (Phytate) ที่ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก จึงทำให้เกิดภาวะโลหิตจางขึ้น
ส่วนภาคใต้ จะเน้นรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มและเผ็ดจัด มักมีส่วนผสมของกะปิ และอาหารทะเล และนิยมรับประทานหน่อไม้ สะตอ กระถิน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอาหารที่มีกรดยูริกเยอะ จึงทำให้พระสงฆ์ในภาคใต้มีค่ากรดยูริกสูง และมีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต
คนไทยตั้งใจให้พระสงฆ์สุขภาพดี แต่อาหารที่ถวายจริงกลับให้ผลตรงข้าม
ทีมงาน HonestDocs ได้ทำการสำรวจวิธีการเลือกเมนูอาหารถวายพระ จากผู้เข้าชมเว็บไซต์ HonestDocs ด้วยวิธีแจกแบบสอบถามออนไลน์ ผู้ตอบแบบสอบถามมีจำนวนทั้งสิ้น 9,133 คน ในจำนวนนี้มี 5,538 คนที่ตั้งใจจะทำบุญหรือถวายเพลในช่วงเข้าพรรษา
เมื่อดูเฉพาะผู้ที่คิดว่าจะทำบุญหรือถวายเพล พบว่าพวกเขาเลือกเมนูอาหารถวายพระโดยคำนึงถึงสุขภาพพระสงฆ์มากที่สุด (38.4%) รองลงมาเลือกเมนูที่ตัวเองชอบ (22.4%) ส่วนอันดับ 3 คือเลือกเมนูที่หาซื้อสะดวก (21.1%)
บทความแนะนำ : สตั๊นเลย สาวซื้อกระเพาะปลา พอบอกใช้ “คนละครึ่ง” เจอพ่อค้าเทออกจากถุงให้เห็นจะๆ